การคัดแยกและลดปริมาณขยะ ด้วยหลัก 3Rs

ทำความรู้จักการคัดแยกขยะด้วยหลัก 3R การคัดแยกขยะด้วยหลัก 3R เป็นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ด้วยการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ โดยสามารถจำแนกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. Reduce ลดการใช้ ปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งของ หรือบรรจุภัณฑ์ ที่จะสร้างปัญหาขยะ (Refuse) หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติม เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งจะลดปริมาณขยะมูลฝอยอันตรายภายในบ้าน ข้อสำคัญคือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้โฟม หรือพลาสติก ที่เป็นปัญหาสำคัญของสถานการณ์โลกร้อน เพราะย่อยสลายและกำจัดไม่ให้มีมลพิษได้ยาก โดยต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินให้มาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนี้ •   ใช้ถุงผ้า ตะกร้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก •   ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนการใช้กระดาษทิชชู •   ใช้ปิ่นโต หรือกล่องข้าวใส่อาหาร แทนการใส่กล่องโฟม •   ใช้กระติกน้ำ หรือขวดน้ำแบบพกพาที่สามารถ Refill ได้ แทนการซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง •   ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก เมื่อซื้อของชิ้นเล็ก หรือน้อยชิ้น •   เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลือกทานอาหารที่ร้าน แทนการใส่กล่องกลับ •   หลีกเลี่ยงใช้วัสดุสิ้นเปลืองแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 2. Reuse การใช้ซ้ำ การนำสิ่งของที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น นำถุงพลาสติกมาใส่ของ หรือใช้เป็นถุงขยะ นำสิ่งของมาดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ได้อีก ดังต่อไปนี้ •   การนำยางรถยนต์มาทำเก้าอี้ •   การนำขวดพลาสติกมาดัดแปลงเป็นที่ใส่ของ แจกัน •   ดัดแปลงของเหลือใช้เพื่อใช้ประโยชน์ เช่น นำเศษผ้าเหลือใช้มาทำเปลนอน ผ้าถูพื้น หรือพรมเช็ดเท้า •   ใช้กระดาษขาวทั้งสองหน้า •   นำน้ำที่ใช้ซักผ้า ล้างจานแล้วมารดน้ำต้นไม้ หรือนำไปล้างรถของคุณต่อ •   เลือกใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จได้ •   ดัดแปลงของเหลือใช้เพื่อใช้ประโยชน์ •   ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ทิ้งเป็นขยะ •   นำกระดาษรายงานที่เขียนแล้ว 1 หน้า มาใช้ในหน้าที่เหลือ หรืออาจนำมาทำเป็นกระดาษโน้ต 3. Recycle การรีไซเคิล การนำขยะไปแปรรูป หรือแปรสภาพก่อนนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง หลายคนอาจจะสับสนกับ Reuse เพราะเป็นการนำกลับมาใช้แล้วใช้อีกเหมือนกัน แต่การรีไซเคิลคือการนำเอาขยะกลับไปเข้าสู่กระบวนการหลอมละลายแล้วขึ้นรูปใหม่ เช่น ทำให้กลายเป็นถุงดำ กะละมัง ถังขยะ เป็นต้น หรือการที่กระดาษขาวใช้แล้วนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ให้ออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์แบบกระดาษกล่อง ซึ่งขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่อีกครั้ง ได้แก่ สิ่งของจำพวกแก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ และอโลหะ รวมถึงขยะอินทรีย์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยหมัก